จ.บุรีรัมย์ ฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากไฟไหม้และอาคารถล่ม
จังหวัดบุรีรัมย์ฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยและอาคารถล่มในสถานประกอบการโดยกำหนดสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้รถยนต์ติดก๊าช ลุกลามที่ศูนย์บริการรถยนต์รายใหญ่ มีพนักงานกว่า 200 คน
จังหวัดบุรีรัมย์ฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยและอาคารถล่มในสถานประกอบการโดยกำหนดสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้รถยนต์ติดก๊าช ลุกลามที่ศูนย์บริการรถยนต์รายใหญ่ มีพนักงานกว่า 200 คน
วันนี้ (25 พ.ค.59) 14.00 น. ที่ศูนย์บริการโตโยต้า บุรีรัมย์ อ.เมืองบุรีรัมย์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยและอาคารถล่มในสถานประกอบการประจำปี 2559 เพื่อป้องกันและเข้าระงับเหตุให้เร็วที่สุดลดการสูญเสีย
โดยได้จำลองสถานการณ์ ว่าทางศูนย์บริการได้ซ่อมรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซของลูกค้า ขณะซ่อมเกิดประกายไฟเกิดไฟไหม้รถยนต์ เพลิงไหม้ได้ลุกลามออกไปจุดอื่นๆ ภายในศูนย์ ถังบรรจุก๊าชระเบิดเป็นระยะ ซึ่งมีทั้งรถยนต์ใหม่ และรถยนต์ของลูกค้ากำลังใช้บริการภายในศูนย์จำนวนมาก ทางศูนย์บริการฯจึงได้เปิดสัญญาณเตือนภัยระดับสูงสุดและแจ้งพนักงานทุกคนออกจากพื้นที่ ซึ่งบริษัทโตโยต้าบุรีรัมย์มีพนักงานกว่า 200 คน ไปเดินไปยังจุดรวมพลพร้อมตรวจนับจำนวนคน จากนั้นประสานขอความช่วยเหลือรถดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นใกล้เคียงเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หาวิธีลำเลียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ติดอยู่ภายในอาคารออกไปยังบริเวณที่ปลอดภัย จากนั้นตัวอาคารเกิดทรุดตัวถล่มลงต้องอาศัยผู้ที่เชียวชาญเข้าไปตรวจสอบก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ จนกระทั่งสามารถค้นหาและนำตัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่อัคคีภัยได้หมดทุกคน ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตรวจสอบชื่อที่อยู่เพื่อติดต่อญาติ และนำตัวส่งโรงพยาบาล ขึ้นป้ายรายชื่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ สูญหาย เพื่อสะดวกในการติดตาม สอบถาม
การฝึกซ้อมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี มีการประสานงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งก่อนการฝึกซ้อมครั้งนี้ ได้ทำการฝึกซ้อมการประสานงานบนโต๊ะ และเสมือนจริง ณ ศูนย์บริการโตโยต้าบุรีรัมย์ ถนนสายบุรีรัมย์-นางรอง โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อร่วมปฏิบัติการจริงตามขั้นตอน มีการใช้สัญญาณเสียงไซเรน รถดับเพลิง รถพยาบาลเข้าออกในจุดเกิดเหตุจริง การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจนถึง การลำเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล การควบคุมบังคับบัญชา ณ จุดเกิดเหตุ ภายหลังการฝึกซ้อมเสร็จสิ้น
ทางจังหวัดบุรีรัมย์จะได้ประเมินผล เปรียบเทียบจุดอ่อน จุดแข็ง จุดบกพร่องการประสานงาน การควบคุมบัญชาการ การแพทย์ฉุกเฉิน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนในจุดเกิดเหตุ ซึ่งพบว่ายังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขในบางประการซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปปรับปรุงเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุจริง