21 มิถุนายน 2563 ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เห็นชัดทั่วไทย ใครพลาดต้องรออีก 7 ปี

0

 ในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านสาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
           ส่วนประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง ซึ่งทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 13.00 – 16.10 น. ตามเวลาประเทศไทย และดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14.49 น. สามารถมองเห็นได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดังนี้

           – ภาคเหนือ ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 63%
           – กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังประมาณ 40%
           – ภาคใต้ ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดที่ อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณ 16%

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

           โดยสุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ สำหรับ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
           ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า ควรใช้แว่นกันแดด ฟิล์มเอกซเรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทำลายเซลล์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ

           – แว่นตาดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงโพลีเมอร์ดำ
           – แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์
           – กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า
           – อุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูได้ทีละหลายคน

           หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสงทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
           อย่างไรก็ตาม ทาง สดร. ไม่ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์หลักเพื่อให้บริการประชาชนเหมือนทุกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 แต่จะมีการไลฟ์จากหอดูดาวภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา และสงขลา ในวันที่ 21 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.10 น. โดยเผยแพร่ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไป ที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน จะต้องรออีก 7 ปี โดยจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้โพสต์ข้อมูลความรู้เพิ่มเติม ในรูปแบบถาม-ตอบ พร้อมภาพประกอบเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. ตามความเชื่อสมัยก่อนของไทย ยักษ์ที่กินดวงอาทิตย์ มีชื่อว่าอะไร ?

คำตอบ : ราหู
           พระอาทิตย์และพระจันทร์นำเรื่องที่พระราหูแอบดื่มน้ำอมฤตไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงลงทัณฑ์ด้วยการขว้างจักรใส่พระราหูจนตัวขาดเป็นสองท่อน หากแต่เพราะน้ำอมฤตมีฤทธิ์ที่ทำให้เป็นอมตะ พระราหูจึงยังมีชีวิตอยู่ ด้วยความโกรธแค้น จึงไล่อมพระอาทิตย์และพระจันทร์ เกิดเป็นสุริยุปราคาและจันทรุปราคา

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
2. ครั้งล่าสุดที่เกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อใด ?

คำตอบ : วันที่ 24 ตุลาคม 2538
           สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดในประเทศไทย คราสเต็มดวงเคลื่อนผ่าน 11 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร, อุทัยธานี, ลพบุรี, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และ สระแก้ว

           – วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 : ไม่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในประเทศไทย

           – วันที่ 26 ธันวาคม 2562 : สุริยุปราคาบางส่วน ครั้งล่าสุดในประเทศไทย

           – วันที่ 11 เมษายน 2613 : สุริยุปราคาเต็มดวง ครั้งต่อไปในประเทศไทย (อีก 50 ปี)

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพสุริยุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562
ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
3. ข้อใดแสดงตำแหน่งของดาวขณะเกิดสุริยุปราคาได้ถูกต้อง

คำตอบ : ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์-โลก
           สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

4. ข้อใดไม่ใช่วิธีการสังเกตการณ์สุริยุปราคา อย่างปลอดภัย

คำตอบ : ดูผ่านแว่นตากันแดด

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สุริยุปราคาบางส่วน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ