9 สถานที่ท่องเทีี่ยวห้ามพลาด! เมื่อมาชมฟุตบอลคิงส์คัพที่บุรีรัมย์
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 47 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 – 8 มิถุนายน 62 นี้ ณ สนามช้างอารีนา จ.บุรีรัมย์ สำหรับแฟนๆที่เดินทางมาชมฟุตบอลที่จ.บุรีรัมย์ แล้วไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนต่อดี ลองเอาข้อมูลนี้ไปพิจารณานะคะ
1. ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
มาเริ่มกันที่ ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เคารพสักการะบูชาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบุรีรัมย์ค่ะ จะเรียกว่าเป็น Check Point ของบุรีรัมย์ต้องมาก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งด้านข้างศาลหลักเมืองยังมีศาลเจ้าจีน เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มากราบไหว้ด้วยนะคะ เป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวบุรีรัมย์ที่ห้ามพลาด
ขอบคุณโพสต์จากคุณ tk_tooktik
2. วนอุทยานเขากระโดง
วนอุทยานเขากระโดง เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีปากปล่องทะลุสามารถเห็นได้ชัดเจน รอบบริเวณแวดล้อมด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็ก โดยเฉพาะนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานกู่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์อันล้ำค่า “พระสุภัทรบพิตร” ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาด้วย
3. ปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวะซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุดเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ พระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้นการที่ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือ ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดี เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของ ปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธาน ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่าพลับพลาอาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกัน ในปัจจุบันว่าพลับพลาเปลื้องเครื่องซึ่งเป็น ที่พักจัด เตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบ พิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน
4. ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทเมืองต่ำ เป็นหนึ่งในกลุ่มปราสาทมรรคโค เป็นศาสนสถานที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เพื่อถวายพระศิวะ มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำเมืองหรือประจำชุมชน ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดปราสาทบูรพาราม ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัยจังหวัดบุรีรัมย์คำว่า เมืองต่ำ ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นราบ[2] ส่วนปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนเชิงเขา ซึ่งทั้งปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้งอยู่ไม่ห่างกันมาก คือห่างกันเพียง 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ วัสดุส่วนหนึ่งจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ของปราสาทเมืองต่ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระเครื่อง ที่เรียกว่า “พระสมเด็จจิตรลดา” อีกด้วย
5. วัดเขาอังคาร
วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนยอดเขาอังคาร ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 320 เมตร อยู่ห่างจากหมู่บ้านเจริญสุข ประมาณ 3 กิโลเมตร ในตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สันนิษฐานว่าสร้างมาในสมัยเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง หรือในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ เป็นวัดที่มีความสวยงาม ใหญ่โตแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ โบสถ์ 3 ยอด ซึ่งภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง และเรื่องราวชาดกเป็นภาษาอังกฤษ ใบเสมาพันปี พระพิฆเนศงาเดียว พระพุทธ 109 องค์ พระตำหนักศักดิ์สิทธิ์ เทวรูปเจ้าเมืองขอม ฯลฯ
เขาอังคารเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว บริเวณที่ตั้งวัด เป็นปากปล่องภูเขาไฟ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ตั้งโบราณสถานสมัยทวารวดีเพราะพบเสมาหินแกะสลักเป็นจำนวนมาก เขาอังคาร มองจากที่สูงเป็นรูปคล้ายพญาครุฑกำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้า โดยหันหัวไปทางใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านถาวร ส่วนลำตัวต้นปีกซ้าย เป็นโบราณวัตถุและพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า ปีกซ้ายเนินเขายื่นไปทางทิศตะวันออก เป็นหมู่บ้านเจริญสุข ส่วนหางไปทางทิศเหนือ คือ บ้านสวายสอ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขาอังคารครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร
ขอบคุณโพสต์จากคุณ one_wan_one
6. สนามฟุตบอลช้างอารีนา
สนามแข่งขันของ “ปราสาทสายฟ้า” ที่ผ่านมานั้น แฟนบอลจะรู้จักกันในหลายชื่อ ทั้ง ไอ-โมบาย สเตเดียม, บุรีรัมย์ สเตเดียม หรือ ธันเดอร์คาสเซิล สเตเดียม ชื่อที่ใช้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ก่อนที่ล่าสุดจะกลายมาเป็น ช้างอารีนา ในปัจจุบัน
โดยฟลอหญ้าแห่งนี้ ขึ้นชื่อว่าสวยงาม และเป็น “ฟุตบอลสเตเดียม” แห่งแรกของไทย ที่มีมาตรฐาน และได้รับการรับรองจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) สนามแห่งนี้ เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบันมีความจุอยู่ที่ 32,600 ที่นั่ง สร้างด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) โดยโครงสร้างประกอบด้วยเหล็ก และไฟเบอร์ ซึ่งขนาดน้ำหนักนั้นของโครงสร้างสนามเท่ากันกับ หินที่ใช้สร้างปราสาทหินพนมรุ้ง แหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมสมัยขอมโบราณ ของจังหวัด
จนกลายเป็นสนามที่ถูกพูดถึง เมื่อกลายเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานในระดับสากล แห่งแรกในประเทศไทย ที่ไม่มีลู่วิ่งมาคั่น ที่สำคัญสนามแห่งนี้ ผ่านมาตรฐานฟีฟ่า ระดับเวิลด์คลาส และเอเอฟซี ระดับเอคลาส สเตเดียม ที่เด็ดไปกว่านั้น สนามยังโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อถูกบันทึกกินเนสบุ๊ค ว่าเป็นสนามฟุตบอลในระดับฟีฟ่า ที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน ปัจจุบันสนามแห่งนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กของคนที่เดินทางมายังจังหวัดบุรีรัมย์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

7. สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต
สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสนามแข่งรถแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามมาตรฐานของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ หรือ Fédération Internationale de l’Automobile (FIA) และสหพันธ์รถจักรยานยนต์ระหว่างประเทศ หรือ Fédération Internationale de Motocyclisme (International Motorcycling Federation) ตามวัตถุประสงค์ของคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ที่ได้ต้องการให้ประเทศไทย มีสนามแข่งรถที่มีมาตรฐานสูงสุดของโลก เพื่อให้สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นสนามที่ได้จัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก ของเมืองไทย และเป็นสนามที่จะใช้พัฒนาศักยภาพนักแข่งไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นนักแข่งระดับโลก

8. บุรีรัมย์คาสเซิล
BURIRAM CASTLE เป็นส่วนหนึ่งของ BURIRAM UNITED ตั้งอยู่ระหว่างสนาม Chang ARENA และสนามแข่งรถระดับโลก CHANG INTERNATIONAL CIRCUIT พื้นที่ขนาด 93,000 ตร.ม. แบ่งเป็น Avenue Area 35,000 ตร.ม. ,ปราสารหินพนมรุ้งจำลอง 14,000 ตร.ม., สวนไม้ดอก ไม้ประดับและสวนตะบองเพชร 35,000 ตร.ม. (ออกแบบและจัดสร้างโดย สวนนงนุช)
เป็นแหล่งอารยธรรมใหม่…ที่รวมหัวใจของบุรีรัมย์ไว้..ที่นี่ ที่เดียว ที่รวมความต้องการให้กับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบุรีรัมย์ เพื่อนพี่น้องจากจังหวัดใกล้เคียง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

9. ถนนคนเดินเซราะกราว
ถนนคนเดินเซราะกราว เป็นถนนคนเดินเป็นวัฒนธรรมที่เป็นอัตตลักษณ์ของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ณ บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด จัดขึ้นเพื่อให้ถนนคนเดินแห่งนี้ เป็นลานบ้าน ลานวัฒนธรรม เป็นแหล่งให้ ประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์มาพบปะกัน นำสินค้าผลผลิตในชุมชนมาจำหน่าย นำศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามและน่าสนใจของแต่ละอำเภอ มาแสดง นำภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาสาธิตให้ผู้ร่วมเที่ยวชมงานได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีการจัดแสดงการสาธิต และจัดจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาต่างๆ ของฝากของที่ระลึก อาหารปรุงสำเร็จ ตลาดสีเขียว สินค้าเบ็ดเตล็ด และชมการแสดง ศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ รวมกว่า 359 บูธ ตลอดถนนพิทักษ์ หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทางยาวเกือบ 1 การเดินทางจากถนนจิระตรงมายังสี่แยกตลาดไนท์บาซาร์ บริเวณคลองละลม (คูเมืองโบราณลูกที่ 1) ห่างจากสถานีรถไฟจังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ 500 เมตร
