เปิด 12 ขั้นตอนการขอรับวัคซีนโควิด-19 ควรประเมินตนเองก่อนฉีด “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ช่วยชาติ

0

ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอสรุปเพื่อให้สังคมไทยเห็นภาพชัดเจนว่า ไทยเริ่มกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยตั้งคณะทำงานต่างๆขึ้นมาศึกษาและติดตามข้อมูล ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ตั้งเป้าในปี 2564 จะหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชากร โดยมาจาก 3 ช่องทาง

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ระบุถึงกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนลอตแรกนี้ ว่า “กลุ่มเป้าหมายแรกจะฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน คนมีโรค ประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ เรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้า ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการฉีดโดยสมัครใจ”

และเนื่องจากการรับวัคซีนครั้งนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนในการประเมินตนเอง เพื่อจะรับหรือไม่รับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ ว่า “ความจริงแล้วทุกคนในประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 แต่ความเสี่ยงมีมากน้อยขึ้นกับลักษณะงาน พฤติกรรม รวมทั้งกิจกรรมที่ทำด้วย รวมทั้งต้องดูด้วยว่าตนเองมีโรคประจำตัวหรือไม่ ถ้ามีโรคประจำตัวด้วยก็ยิ่งควรฉีด เพราะเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง แต่หากยังกังวลใจอยู่ก็รอดูอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องป้องกันตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงไปในสถานที่มีคนจำนวนมากๆ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเตรียมเข้ารับวัคซีนโควิด-19 นั้น จะต้องดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง เพราะเราจะไม่ฉีดวัคซีนให้กับคนที่มีไข้”

ส่วนขั้นตอนการฉีดวัคซีนนั้น มี 12 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1.สำรวจกลุ่มเป้าหมาย
2.เตรียมสถานที่ บุคลากร และอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูง
3.เตรียมชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ และประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
4.เตรียมอุปกรณ์เก็บวัคซีนระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain)
5.เตรียมระบบข้อมูลข่าวสาร
6.นัดกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีน เข็มที่ 1
7.ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 โดยต้องประเมินความเสี่ยงก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด อย่างน้อย 30 นาที
8. ติดตามและประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน
9.นัดหมายรับวัคซีน เข็มที่ 2
10.ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
11.ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2
12.รับใบยืนยันการรับวัคซีน

ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า “การเลือกวัคซีนเราจะเน้นความปลอดภัยของวัคซีนเป็นอันดับแรก สำหรับไทยนำเข้าวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา และบริษัทซิโนแวค โดยบริษัทแอสตราเซนเนกาใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน นำมาใส่พันธุกรรมที่สร้างโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะจดจำว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 อีกครั้งจะจำได้และกำจัดออกจากร่างกาย ส่วนวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ซึ่งใช้เทคโนโลยีนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้อ่อนแรง ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เราใช้มานาน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งตามทฤษฎีและประสบการณ์ส่วนตัว ผมถือว่าปลอดภัย

สรุปจาก : ไทยรัฐ