มหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ครั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวแอกโบราณ ซึ่งเป็นว่าวที่ใช้วัสดุทำตัวโครงว่าวจากไม้ไผ่ ใช้กระดาษปิดเป็นตัวว่าว และหางว่าวจะต้องทำจากใบตาล หรือใบลาน เท่านั้น
10 ธ.ค.57 ชาวอีสานมีความคุ้นเคยกับการเล่นว่าวมาแต่โบราณกาล เช่นเดียวกันกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเดิมนั้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะจัดทำว่าว เพื่อนำมาเล่นสร้างความบันเทิงไปพร้อมๆ กับการนวดข้าว แต่ในปัจจุบันวิถีการดำรงชีพของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือจักรกลการเกษตรได้เข้ามามีบทบาทสูง แรงงานในภาคเกษตรกรลดน้อยลง อีกทั้งความเป็นชุมชน ทำให้บริเวณลานกว้างที่จะเป็นสถานที่ให้เด็กวิ่งเล่นว่าวก็ถูกจำกัด จึงทำให้เราเห็นภาพการเล่นว่าวลดน้อยลงในตามท้องทุ่งนาและชนบททั่วไป
การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้น จะเป็นช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือน เท่านั้น โดยจะเริ่มในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี เพราะช่วงนี้ มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลมบน” และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืนในช่วงเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็น เรื่อยไปจนถึงสว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง โดยการเล่นว่าวของคนอีสานส่วนมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมายเกี่ยว กับการบวงสรวง หรือการเสี่ยงทาย ซึ่งมักจะมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร
สำหรับงานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ครั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวแอกโบราณ ซึ่งเป็นว่าวที่ใช้วัสดุทำตัวโครงว่าวจากไม้ไผ่ ใช้กระดาษปิดเป็นตัวว่าว และหางว่าวจะต้องทำจากใบตาล หรือใบลาน เท่านั้น โดยมีขนาดของตัวปีกตั้งแต่ 2.50 -3 เมตร ส่วนว่าวแอกพัฒนามีขนาดเช่นเดียวกันว่าวแอกโบราณ เพียงแต่วัสดุที่นำมาใช้ทำตัวว่าวจะทำจากวัสดุใดก็ได้และการแข่งขันว่าวแอก ยักษ์ จะมีความยาวของส่วนปีกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ใช้วัสดุอะไรในการสร้างว่าวก็ได้ แต่ต้องติดแอกในขณะแข่งขัน โดยว่าวที่แข่งขันจะต้องปล่อยในช่วงเย็น และจะต้องติดลมตลอดทั้งคืนจึงจะผ่านเกณฑ์การแข่งขัน
ดูกำหนดการงานแข่งว่าว คลิ๊กที่นี่